วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สาระสำคัญ
หนังสืออ้างอิง เป็นหนังสือที่มีลักษณะพิเศษต่างจากหนังสือทั่วไปในห้องสมุด ซึ่งแต่ละประเภทมีวิธีใช้และประโยชน์ต่างกัน
หนังสืออ้างอิง เป็นหนังสือประเภทหนึ่งที่ห้องสมุดแยกออกมาจากหนังสือต่างๆ ที่มีเพราะหนังสืออ้างอิงมีลักษณะพิเศษต่างจากหนังสือทั่วไป และไม่อนุญาตให้ยืมออกไปใช้นอกห้องสมุด บนเลขเรียกหนังสือจะมีสัญลักษณ์ที่สังเกตได้ คือ อ และ R หรือ Ref.
ลักษณะของหนังสืออ้างอิง
1.เป็นหนังสือหายาก ราคาแพง หรือเป็นหนังสือภาพสำคัญ ๆ ที่หายาก หรือมีการจัดพิมพ์มีคุณภาพพิเศษ มีความประณีตในการจัดทำ เช่น กระดาษมีคุณภาพดี ตัวพิมพ์คมชัด การเข้าเล่มได้มาตรฐาน
2. มีรูปเล่มขนาดใหญ่ หรือมีความหนามากกว่าปกติ หรือมีจำนวนหลายเล่มจบ ใน 1 ชุด
3. มีการจัดเรียงลำดับเนื้อหาอย่างมีระบบระเบียบ เพื่อความสะดวกของผู้ใช้ เช่น เรียงตามตัวอักษร เรียงตามเหตุการณ์ เรียงตามหมวดหมู่
4. มีเครื่องมือช่วยค้น เพื่อให้ความสะดวกแก่ผู้ใช้ได้แก่
- อักษรนำเล่ม (Volume Guide) อาจเป็นตัวเลข หรือตัวอักษร จะมีในหนังสือชุดหลายเล่มจบ ส่วนจบ ส่วนมากจะอยู่ที่สันหนังสือ หรือหน้าปก
- คำชี้นำ (Guide Word) มักปรากฏในหนังสือพจนานุกรม และสารานุกรม เป็นคำที่อยู่ด้านบน ของหน้าทั้งสอง แสดงคำเริ่มต้นและคำสุดท้ายของหน้านั้นๆ
- ดรรชนีหัวแม่มือ (Thumb Index) เป็นส่วนเว้าด้านเปิดหนังสือ มักจะมีเฉพาะหนังสือหนามาก เพื่อช่วยให้การค้นหาสะดวกขึ้น เพราะในส่วนเว้าจะมีอักษรปรากฏให้ทราบว่า เรื่องที่ต้องการอยู่ส่วนใด หนังสือบางเล่มจะไม่ทำเว้า แต่จะทำยื่นออกมาจากตัวเล่ม และมีอักษรกำกับ
- ดรรชนี (Index) บางเล่มอาจใช้คำอื่น เช่น สารบัญคำ คำ หรือหัวข้อย่อย จัดเรียงตามอักษรและบอกเลขหน้าที่ปรากฏเนื้อหานั้น
5. เขียนโดยผู้ทรงคุณวุฒิ

ประเภทของหนังสืออ้างอิง
หนังสืออ้างอิงปกติแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. หนังสืออ้างอิงที่ให้ข้อมูลทันที
2. หนังสืออ้างอิงที่บอกแหล่งข้อมูล


แต่ห้องสมุดส่วนมากจะแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 และ 2 ดังกล่าว และอีกประเภทหนึ่ง คือ หนังสืออ้างอิงที่ห้องสมุดพิจารณาเลือก
1. หนังสืออ้างอิงที่ให้ข้อมูลทันที หนังสืออ้างอิงประเภทนี้ เมื่อผู้ใช้เปิดหาก็จะพบเรื่องที่ต้องการในหนังสือเล่มนั้นเลย เช่น ถ้าต้องการทราบความหมายของคำว่า Gap เมื่อเปิด dictionary ที่ คำนั้นก็จะพบคำแปลเลย โดยไม่ต้องหาจากแหล่งอื่น หนังสืออ้างอิงที่ให้ข้อมูลทันที แบ่งเป็น 8 ประเภท คือ
1.1 พจนานุกรม (Dictionary)
1.2 สารานุกรม (Encyclopedia)
1.3 หนังสือรายปี สมพัตรสร (Yearbook , Almanac)
1.4 ทำเนียบนาม หรือนามานุกรม (Directory)
1.5 คู่มือ คู่มือทางวิชาการ (Manual or Handbook)
1.6 สิ่งพิมพ์รัฐบาล (Government)
1.7 อักขรานุกรมชีวประวัติ (Biographical Directory)
1.8 อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ และหนังสือแผนที่ (Gazetteer and Atlas)
2. หนังสืออ้างอิงที่บอกแหล่งข้อมูล
หนังสืออ้างอิงประเภทนี้จะไม่มีเนื้อหาแต่จะบอกผู้ใช้ว่า ถ้าต้องการเรื่องนั้นๆ จะไปหาได้จากไหน เช่น ถ้าต้องการทราบว่าจะหาหนังสือเกี่ยวกับ หนังสือเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ของไทยในราชวงศ์จักรีจากที่ไหน ก็ต้องหาจาก หนังสือประเภทบรรณานุกรม หนังสืออ้างอิงที่บอกแหล่งข้อมูลแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
2.1 หนังสือบรรณานุกรม (Bibliography)
2.2 หนังสือดรรชนี(Index)
3. หนังสืออ้างอิงที่ห้องสมุดพิจารณาเลือก
หนังสือประเภทนี้ หมายถึงหนังสือที่ไม่อาจจัดเป็นหนังสืออ้างอิงประเภทใดประเภทหนึ่งตามข้อ 1 และ 2 แต่เป็นหนังสือที่มีคุณสมบัติพิเศษ เป็นหนังสือหายาก จัดพิมพ์ในโอกาสต่างๆ หรือมีคุณค่าควรแก่การเก็บรักษา จึงจัดไว้บริการเฉพะในห้องสมุด เช่นงานพระราชนิพนธ์ หนังสือได้รับรางวัล สิ่งพิมพ์ของสถาบัน ข้อมูลท้องถิ่น หรือห้องสมุดแต่ละแห่งอาจพิจารณาเลือกหนังสืออื่นๆ เป็นหนังสืออ้างอิงได้

1. พจนานุกรม
คือ หนังสือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของคำ เช่น ความหมาย ตัวสะกด ตัวการันต์ เสียงอ่าน ประเภทของคำ : คำพ้อง คำเหมือน คำตรงข้าม ตัวอย่างประโยค
ประเภทของพจนานุกรม
1. พจนานุกรมทั่วไป อธิบายคำศัพท์ที่ใช่ในหลายสาขาวิชารวมกัน
2. พจนานุกรมเฉพาะวิชา อธิบายความหมายของคำที่ใช้ในวิชาใดวิชาหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ศัพท์คอมพิวเตอร์ ศัพท์การตลาดและการโฆษณา ฯลฯ

แบ่งตามเนื้อหา
1.พจนานุกรมฉบับสมบูรณ์ หมายถึง พจนานุกรมที่ให้ความรู้และรายละเอียดเกี่ยวกับคำอย่างสมบูรณ์ ให้ความหมายโดยละเอียด มีทั้งคำเก่าที่เลิกใช้แล้ว คำที่มาจากภาษาอื่น เช่น Webster ’s New International Dictionary of English Language
2. พจนานุกรมฉบับย่อ ให้ความรู้เรื่องคำเพียงสั้น ๆ เช่น ความหมาย ตัวสะกด ชนิดของคำ และรวบรวมไว้เฉพาะคำที่ใช้ในปัจจุบันเท่านั้น เช่น Oxford Advanced Learner ’s Dictionary of Current English

แบ่งตามลักษณะภาษา
1. พจนานุกรมภาษาเดียว คือ พจนานุกรมที่ให้คำอธิบายเป็นภาษเดียวกัน เช่น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (ไทย-ไทย)
2. พจนานุกรม 2 ภาษา คือ พจนานุกรมที่ให้ความหมายจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่งเช่น New Model Thai-English Dictionary และ New Model English-Thai Dictionary
3. พจนานุกรมหลายภาษา คือ พจนานุกรมที่มี 2 ภาษา ขึ้นไป เช่น ไทย-บาลี-สันสกฤตและ ไทย- อังกฤษ-ฝรั่งเศส

2. สารานุกรม
หมายถึง หนังสือที่ให้ความรู้เรื่องราว ข้อเท็จจริงในสาขาวิชาต่างๆ หลายสาขาวิชา นอกจากให้ความหมายแล้ว ยังกล่าวถึง ประวัติความเป็นมา วิวัฒนาการเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ มักมีการเรียบเรียงเนื้อหาอย่างเป็นระบบ มีทั้งที่จบในเล่มเดียว และหลายเล่มจบ (เป็นชุด) บางเรื่องให้ข้อเท็จจริงอย่างละเอียด สมบูรณ์ บางเรื่องให้คร่าวๆ

ประเภทของสารานุกรมแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. สารานุกรมทั่วไป คือ สารานุกรมที่ให้ความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ ทุกสาขาวิชาอย่างสังเขปไม่ลึกซึ้ง เช่น สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตสถาน (1-24) สารานุกรมสำหรับเยาวชนไทย (1-28)
2. สารานุกรมเฉพาะวิชา คือ สารานุกรมที่ให้ความรู้ เรื่องราวต่างๆ ในวิชาหนึ่งวิชาใดโดยเฉพาะ เช่น สารานุกรมวิทยาศาสตร์ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากล สารานุกรมศึกษาศาสตร์ และ Mc Graw-Hill Encyclopedia of Science and Tecnology
การใช้สารานุกรม
ควรศึกษาคำอธิบายการใช้ ซึ่งพิมพ์อยู่หน้าแรกๆ ก่อน
การจัดเรียง บางชุดจะเรียงตามคัวอักษร ก-ฮ หรือ A-Z ส่วนที่เป็นชุดมักมีดรรชนีอยู่ท้ายเล่มของแต่ละเล่ม หรือเล่มท้ายของชุด เล่มใดปรากฏเรื่องที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษรอะไร ถึงอะไร ก็จะปรากฏที่สันหนังสือ และพิมพ์หมายเลขลำดับของเล่มไว้ด้วย เมื่อต้องการใช้ต้องดูว่าเรื่องที่ต้องการอยู่เล่มใด หน้าใด โดยดูจากดรรชนี
3. หนังสือรายปี
เป็นหนังสือที่ออกเป็นรายปี เพื่อสนองเรื่องราวเหตุการณ์ สถิติตัวเลข ข้อมูลใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมาของหน่วยราชการ กระทรวง กรม กอง สถาบันต่างๆ ให้ผู้สนใจได้ทราบ เช่น รายงานประจำปีของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ หรือบางครั้งก็มีการทำเพิ่มเติมให้มีความทันสมัยทันเหตุการณ์ขึ้น เรียกว่าฉบับ Supplement
ตัวอย่าง - สยามจดหมายเหตุ
- สมุดรายปีประเทศไทย
- รายงานประจำปี 2545 ของกรมอาชีวศึกษา
- สถิติแรงงานประจำปี 2541
4. คู่มือทางวิชาการ
เป็นหนังสือที่ให้ความรู้ ข้อเท็จจริงเฉพาะด้าน เพื่อให้ผู้อ่านใช้เป็นคู่มือการปฏิบัติงานและเป็นคู่มือศึกษาหาความรู้ เช่น คู่มือซ่อมวิทยุ โทรทัศน์ คู่มือเลขานุการ คู่มือแนะนำสถาบันการศึกษาต่างๆ
5. นามานุกรม
เป็นหนังสือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับรายชื่อบุคคล องค์กร บริษัท สถาบันต่างๆ โดยจัดเรียงรายชื่อตามลำดับอักษร แต่ละชื่อก็จะให้รายละเอียดอื่นๆ ด้วยเช่น ถ้าเป็นรายชื่อบุคคลก็จะให้ชื่อนามสกุล ที่อยู่ ตำแหน่งหน้าที่การงาน เบอร์โทรศัพท์ ถ้าเป็นชื่อสถาบัน องค์การก็จะให้รายละเอียดสั้นๆ เกี่ยวกับสถานที่ตั้ง หน้าที่และวัตถุประสงค์ของหน่วยงานนั้นๆ
ตัวอย่าง - สมุดโทรศัพท์
- ทำเนียบนักวิจัย
- นามานุกรมแหล่งทรัพยากรสารนิเทศ จะบอกชื่อหน่วยงาน สถานที่ติดต่อหมายเลขโทรศัพท์
ประเภทหน่วยงาน ประเภทสารนิเทศ
6. บรรณานุกรม
เป็นหนังสือที่รวบรวมรายชื่อสารนิเทศ หรือโสตทัศนวัสดุเพื่อใช้เป็นแหล่งค้นหาสารนิเทศที่ต้องการ อาจรวบรวมรายชื่อเฉพาะวิชาใดวิชาหนึ่ง เรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือสถาบันใดสถาบันหนึ่งก็ได้ โดยทั่วไปจะบอกชื่อผู้แต่ง ชื่อหนังสือ ครั้งที่พิมพ์ สถานที่พิมพ์ สำนักพิมพ์ ปีพิมพ์ จำนวนหน้า ราคา บางเล่มมีเรื่องย่อ หรือวิจารณ์หนังสือด้วย มักเรียงตามอักษรชื่อของผู้แต่ง หรือรียงตามหัวเรื่อง หรือเรียงตามหมวดวิชา
ตัวอย่าง - ดรรชนีวารสารไทย
- ดรรชนีหนังสือพิมพ์ไทย
- Education Index
8. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ และหนังสือแผนที่
อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ เป็นหนังสือที่นำเอาชื่อที่เกี่ยวข้องทางภูมิศาสตร์มาอธิบาย ซึ่งอาจเป็นชื่อประเทศ จังหวัด เมือง อำเภอ แม่น้ำ ภูเขา ฯลฯ มักมีการจัดเรียงตามลำดับอักษร
ตัวอย่าง – อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตสถาน เป็นสารานุกรมที่ให้ความรู้ทางภูมิศาสตร์ของไทยมีสมบูรณ์ที่สุด (1 ชุด มี 6 เล่ม : เล่ม 1 เกี่ยวกับลักษณะทั่วไปทางภูมิศาสตร์ เช่น ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติ เล่ม 2-5 รียงตามอักษรชื่อของเรื่องนั้นๆ เล่ม 6เป็นภาคผนวก เรียงตามอักษรชื่อของจังหวัด)